เฮือนล้านนา


เฮือนล้านนา


บ้าน ที่อยู่อาศัยของชาวล้านนา เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “เฮือน” มีรูปแบบการก่อสร้างสะท้อนถึงภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆ ได้อย่างลงตัว ภายใต้ความเรียบง่าย แสดงถึงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมซ้อนอยู่ในทุกๆ ส่วนของการสร้าง ไม่ว่าจะเป็น จั่ว หลังคา กาแล ชานบ้าน บันได รวมไปถึงลายฉลุตกแต่ง ล้วนแต่สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถของสล่า (ช่าง) ท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า


องค์ประกอบของตัวบ้าน จะแตกต่างกันไปตามรูปแบบศิลปะท้องถิ่น รวมไปถึงลักษณะการใช้งาน ซึ่งสามารถสื่อถึงชนชั้นฐานะของผู้อาศัย ตั้งแต่ชนชั้นเจ้าเมือง (คุ้มหลวง) ไปจนถึงชาวบ้านธรรมดา เฮือนของชาวล้านนาโดยปกติจะสร้างด้วยไม้ ยกใต้ถุนสูง ด้านล่างล่างปล่อยโล่งไว้เพื่อเก็บเครื่องมือทางการเกษตร หรือใช้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ส่วนด้านบนจะเป็นที่อยู่อาศัย แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ห้องนอน ห้องครัว  หิ้งพระเจ้า หิ้งผีปู่ย่า (หิ้งบรรพชน) เติ๋น เป็นต้น



ในปัจจุบันนี้เราหาดูบ้านเรือนแบบสมัยโบราณได้ยาก เนื่องจากวิทยาการสมัยใหม่ ความนิยมที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม้ ซึ่งเป็นวัสดุหลักหายาก จึงนิยมใช้ปูนนำมาสร้างแทน เป็นเหตุรูปแบบบ้านเปลี่ยนไปจากอดีต เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านจะเลือนหายไปจากสังคมล้านนา แต่เรายังสามารถชื่นชมกับความสวยงามเหล่านี้ได้ที่ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ ภายในสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รวบรวมบ้านโบราณแบบต่างๆ จากหลากหลายที่มาจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจเข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 น. – 16.30 น.










ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม